คณะเศรษฐศาสตร์ จับมือ บ.นครหลวงค้าข้าว หนุนเทคโนโลยีใหม่แก้ปัญหาปลูกข้าวลดต้นทุน ลดโลกร้อนเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรไทย
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 น. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ ระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ศาสตราจารย์ ดร.กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ กับ บริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด โดย นายพงศ์พัฒน์ วนิชจักร์วงศ์ และนายอนันต์ พิเชฐพงศา กรรมการบริษัท โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ พญ.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย เป็นประธานในพิธี และมีคณะผู้บริหารบริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด ผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากร คณะเศรษฐศาสตร์ เข้าร่วมเป็นเกียรติในงาน ณ ห้อง M201 (Social Space ชั้น 2) อาคารเรียนรวมและพัฒนาทักษะพื้นฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ศาสตราจารย์ พญ.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ กล่าวว่า “พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง บริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด กับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันนี้ เป็นโอกาสที่ดีของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในนามคณะเศรษฐศาสตร์ที่ได้ลงนามความร่วมมือเพื่อร่วมส่งเสริมการประยุกต์ใช้วิธีการเพาะปลูกข้าวยั่งยืนในเกษตรกรรายย่อย ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องข้าวยั่งยืน (Sustainable Rice) โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยขอนแก่น เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน โดยได้มีการรณรงค์ในการลดก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกต้นไม้เพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มออกซิเจนให้สังคมเมืองลดโลกร้อนมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีเป้าหมายในการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยและประชาคมโลก”
ศาสตราจารย์ ดร.กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม กล่าวว่า “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ในวันนี้ มีขึ้นเพื่อร่วมดำเนินโครงการในการส่งเสริมการประยุกต์ใช้วิธีการเพาะปลูกข้าวยั่งยืนในเกษตรกรรายย่อย ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องข้าวยั่งยืน (Sustainable Rice) โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเพิ่มผลิตภาพ และลดก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตข้าวให้แก่ชุมชนเป้าหมาย ช่วยเหลือเกษตรกรนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการปลูกข้าว ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น และการรับซื้อผลผลิตข้าวที่เกิดจากการปลูกข้าวตามกระบวนการการปลูกข้าวยั่งยืน ช่วยแก้ไขปัญหาด้านการตลาดให้กับเกษตรกร รวมทั้งความร่วมมือต่างๆ ทั้งนี้ คณะเศรษฐศาสตร์มีหน้าที่สนับสนุนองค์ความรู้ งานวิจัย งานบริการวิชาการ และการเรียนการสอน โดยมีบุคลากรและนักศึกษาที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงาน”
นายพงศ์พัฒน์ วนิชจักร์วงศ์ กล่าวว่า “ในด้านของบริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด จะใช้ความเชี่ยวชาญ และความสามารถในการเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ โดยสนับสนุนและร่วมออกแบบขั้นตอนในการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วม รับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิ หรือข้าวเปลือกสายพันธุ์อื่นตามที่จะตกลงร่วมกันจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ และประสานความร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อขอการรับรองมาตรฐานข้าวยั่งยืน มกษ.4408-2565 โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป”
ความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นไปตามเป้าหมายในการผลิตบัณฑิตของคณะ ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ และนโยบายของมหาวิทยาลัย ในการจัดการหลักสูตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ และตลาดงาน ยังเป็นไปในฐานะหน่วยผลิตบัณฑิตเฉพาะทางเศรษฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งแรกในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีคุณลักษณะโดดเด่นเฉพาะที่สำคัญ ที่มีความเข้าใจกลไกการทำงานของระบบเศรษฐกิจในภาพกว้างเฉพาะด้านที่มีความสามารถในการนำข้อมูลจากสถานการณ์จริงมาใช้วิเคราะห์เพื่อให้ได้ข้อเสนอเป็นแนวคิดเพื่อการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศ
ข่าว : วัชรา น้อยชมภู กองสื่อสารองค์กร