คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น Faculty of Economics Khon Kaen University

econ@kku.ac.th
Tel :


กิจกรรมเสวนาภายใต้หัวข้อ “ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสาน ให้ “เปลี่ยนผ่าน” สู่ความยั่งยืน” ภายใต้งานสัมมนาวิชาการประจำปี 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เมื่อวันอังคารที่ 5 กันยายน 2566 เวลา 08.30 – 12.00 น. ณ ห้อง Convention 2 – 3 โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น จังหวัดขอนแก่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ได้จัดงานสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2566 “ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสานให้ “เปลี่ยนผ่าน” สู่ความยั่งยืน” เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน ได้รับทราบทิศทางเศรษฐกิจ การเงิน นโยบาย รวมถึงประมาณการเศรษฐกิจภาคอีสานในอีก 2 ปีข้างหน้า

รองศาสตราจารย์ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมเป็น 1 ใน 3 ของผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ “ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสาน ให้ “เปลี่ยนผ่าน” สู่ความยั่งยืน” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 ท่าน คือ คุณมานพ แก้วโกย ผู้บริหาร หจก. เนเจอร์ฟูดโปรดักส์แอนด์มาร์เก็ตติ้ง และ ดร.โสมรัศมิ์
จันทรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นผู้ดำเนินรายการ

จากการเสวนาสรุปประเด็นสำคัญได้ 4 ข้อ ดังนี้

(1) ทำไมภาคเกษตรอีสานถึงต้องปรับเปลี่ยน โดยปัจจุบันแรงงานภาคเกษตรเผชิญปัญหาสังคมสูงอายุ ทำให้ผลิตภาพ (Productivity) ต่ำ อีกทั้งเป็นอาชีพที่เสี่ยงสูงแต่ผลตอบแทนต่ำ (High Risk Low Return) กอปรกับสภาพอากาศที่ผันผวนมากขึ้น เช่น สถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบัน ส่งผลให้ดินจะอุ้มน้ำได้น้อยลงกระทบต่อผลผลิต รวมถึงกิจกรรมการเกษตรส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้น ๆ 

(2) อะไรเป็นอุปสรรคในการปรับตัวของภาคเกษตรอีสาน นโยบายภาครัฐส่วนใหญ่เน้นการแก้ปัญหาระยะสั้น และอุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไข ส่งผลให้เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการปรับตัว นำมาซึ่งผลิตภาพภาคเกษตรที่ลดลงมาโดยตลอด และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ภาคเกษตรที่ยังเรื้อรังทำให้เกษตรกรยังทำเกษตรรูปแบบเดิมเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการปรับเปลี่ยน 

(3) แนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรอีสาน การปรับตัวของเกษตรกรเหมือนคนทั่วไปมองความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นและแรงจูงใจเป็นอันดับแรก โดยปกติการปรับเปลี่ยนอาจนำมาซึ่งต้นทุนและความเสี่ยงที่สูงขึ้น แต่หากทำให้เกษตรกรเห็นว่าผลดีที่จะเกิดขึ้นมีอะไรและช่วยลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกรผ่านรูปแบบประกันความเสียหาย จะเป็นการสร้างแรงจูงใจที่ดีมากขึ้น(4) ใครต้องปรับตัว ผู้ร่วมเสวนาให้ความเห็นในทางเดียวกันว่าในการขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสาน จำเป็นต้องปรับตัวทั้งเกษตรกร ภาครัฐ และเอกชน โดยภาครัฐควรทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การมี Platform รายงานคุณภาพดินแบบเรียลไทม์ ให้เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม ทั้งนี้ ภาครัฐทำหน้าที่ให้การสนับสนุนด้านข้อมูล (Big Data) และภาคเอกชนเป็นผู้จัดทำ Platform และโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ โดยเฉพาะระบบการจัดการน้ำให้ทั่วถึง

ที่มาข้อมูล/ภาพ: ธนาคารแห่งประเทศไทย / หม่องเฮียนฮู้